"อภัยภูเบศร" เอาด้วย ร่วม SAVE แกงส้ม เมนูอาหารสุขภาพวิถีไทย รสชาติอร่อยไม่ซ้ำแบบ - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, February 10, 2023

"อภัยภูเบศร" เอาด้วย ร่วม SAVE แกงส้ม เมนูอาหารสุขภาพวิถีไทย รสชาติอร่อยไม่ซ้ำแบบ

แกงส้มภาคกลาง
อภัยภูเบศร เอาด้วย ร่วม SAVE แกงส้ม เมนูอาหารสุขภาพวิถีไทย รสชาติอร่อยไม่ซ้ำแบบ พร้อมแจกสูตรบอกสรรพคุณละเอียดยิบ
 
หลังนักรีวิวชาวต่างชาติจัดอันดับแกงส้มของไทย ให้เป็นอาหารรสชาติยอดแย่ที่สุดในโลก จนคนไทยพากันติดแฮชแทค #SAVEแกงส้ม จนเป็นกระแสในโลกโซเชียล เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เพจเฟซบุค “สมุนไพรอภัยภูเบศร” ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน ได้โพสต์เมนูแกงส้ม ที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน จนกลายเป็นวิถีว่า เมนูอาหารของแต่ละชาติพันธุ์สัมพันธ์กับลักษณะภูมินิเวศน์ที่เขาเหล่านั้นดำรงอยู่ สั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่รู้ว่าฤดูกาลใดควรจะเลือกเมนูใด เครื่องเทศ เครื่องปรุงชนิดไหนจะใช้กับอาหารประเภทเนื้อจำพวกไหน เกิดเป็นความจำเพาะที่เป็นอัตตลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ ของชุมชน ตลอดจนลงไปถึงครอบครัวของใครของมัน แม้จะเรียกชื่อเหมือนกันแต่รสชาติก็จะมีความแตกต่างกันซึ่งแม้แต่ส่วนประกอบที่เหมือนกันแต่ทำออกมาก็ไม่เหมือนกัน ที่เราเรียกว่ารสมือ เป็นที่มาของคำว่าเสน่ห์ปลายจวัก
แกงส้มภาคกลาง
แกงส้ม เป็นตำรับอาหารไทยที่คนไทยรู้จักกันดี ในคุณสมบัติอาหารเป็นยาป้องกันไข้หัวลม คือไข้ในช่วงปลายฝนต้นหน้าว คำว่าหัวลมหมายถึงต้นฤดูหนาว ช่วงรอยต่อนี้คนจะเป็นไข้ ไอ หวัด หากอธิบายตามแนวทางการแพทย์แผนไทย สรรพสิ่งในจักรวาลประกอบขึ้นด้วยธาตุ เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงมีความเย็นสูงขึ้นจะกระทบธาตุในร่างกายของเรา ในแกงส้มมีความเปรี้ยวซึ่งความเปรี้ยวเป็นธาตุไฟที่พอดี แกงส้มจึงเป็นอาหารปรับธาตุให้เป็นปกติในช่วงนี้ หากจะอธิบายตามโภชนบำบัดสมัยใหม่ ในแกงส้มมีพริกกับหอมเป็นหลัก ซึ่งหอมเป็นความจำเพาะของแกงส้มเมื่อเปรียบเทียบกับแกงทั้งหลายที่มีพริกเป็นองค์ประกอบเหมือนๆกัน หอมได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่เกิดมาช่วยแก้หวัดและระบบทางเดินหายใจ มีสารเควอซิทินสูง ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารต้านการแพ้ที่ดีมาก มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันเข้มแข็งและทำงานเป็นปกติไม่ทำงานมากเกินจนเกิดเป็นภูมิแพ้และหอบหืด ที่สำคัญก็คือทำให้เม็ดเลือดขาวที่จับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้อย่างรวดเร็วมีความแข็งแรงและเพิ่มจำนวนขึ้น จะเห็นว่าภูมิปัญญากินแกงส้มแก้ไข้หัวลมสามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์และนอกจากนี้หอมยังมีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์กับระบบหลอดเลือดหัวใจ สมอง จากการที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ได้อีกด้วย

เรื่องพริกไม่ต้องพูดถึงแทรกอยู่ในอาหารไทยแทบทุกมื้อ มีการศึกษาว่าลดอัตราการตายจากมะเร็ง ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น ส่วนเครื่องเทศนอกจากจะมีพริกกับหอมเป็นหลักแล้วยังอาจมีการใส่เครื่องเทศอื่น เช่น ข่า กระเทียม กระชาย ผิวมะกรูด อยู่บ้างซึ่งช่วยทั้งการแต่กลิ่นดับคาวและประโยชน์ทางสุขภาพ

แกงส้มเป็นเมนูที่มีเปรี้ยวนำ เค็มตาม มีหวานเล็กน้อย  ความเปรี้ยวในแกงส้มที่นิยมคือมะขามซึ่งไม่เปรี้ยวเกินมีความอมหวานซ่อนอยู่แต่หลายพื้นที่ก็สรรหาความเปรี้ยวที่ท้องถิ่นมี เช่น มะดัน มะนาว มะตาด ตะลิงปิง มะนาว มะปริง มะมุด ฯ บางที่ก็ผสมๆกัน สูตรใครสูตรมัน ความเค็มได้จากกะปิเคย เกลือ น้ำปลา ส่วนจำพวกเนื้อสัตว์แกงส้มดั้งเดิมนิยมใช้เนื้อปลาช่อนต้มแล้วโขลกใส่เครื่องแกง ทำให้น้ำแกงส้มข้นขึ้น และอาจมีชิ้นเนื้อปลาใส่มาทีหลังด้วยก็ได้ หรือบางครั้งแกงส้มกับผักบางชนิดนิยมใช้กุ้ง เช่น ชะอมชุบไข่ ดอกกะหล่ำ มะละกอ เป็นต้น
แกงส้มภาคใต้
สำหรับชนิดของผักนั้นเป็นเสน่ห์ของแกงส้มที่สามารถใช้ผักตามท้องถิ่น ผักตามฤดูกาล ได้อย่างหลากหลาย ทั้งผักสดผักดอง เช่น ผักกาดขาวหัวไชเท้า หัวแคร์รรอต เห็ด ลูกแตงโมอ่อน เปลือกแตงโม หน่อไม้สด หน่อไม้ดอง ฟักเขียว ถั่วฟักยาวถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วพลู ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน ผักกระเฉด สายบัว ลูกฟักข้าว ดอกขจร ดอกแค ดอกโสน ยอดฟักทอง ยอด/ฝักมะรุม ฝักข้าวโพดอ่อน บล็อกโครี ผักหนาม ผักเป็ด ดองผักกาดเขียวดอง ยอดฟักทองแกงส้มและผักอื่นๆอีกมากมาย แกงส้มจึงเป็นความชาญฉลาดของมนุษย์ที่ค้นคิดวิธีกินผักนานาชนิด ได้ทั้งโอสถสารที่ละลายน้ำได้จากผักซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกโพลี่แซคคาไลด์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มภูมิคุ้มกันและได้กากใยของผักไปดูแลลำไส้ล้างพิษต่างๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพการส่งเสริมการเจริญของโปรไบโอติกในอาหารไทย พบว่า แกงส้ม ที่ผ่านการย่อยด้วยเอมไซม์ในระบบทางเดินอาหาร จะส่งเสริมการเจริญของเชื้อโปรไบโอติก ที่มีส่วนช่วยดูแลระบบทางเดินอาหารและลำไส้ โดยเฉพาะแกงส้มที่ใส่มะละกอ 

จะเห็นได้ว่าแกงส้มเป็นเมนูที่มีความหลากหลาย ขึ้นกับท้องถิ่น ขึ้นกับฤดูกาล ถึงในระดับครอบครัวเลยทีเดียว เป็นความมั่งคงทางอาหารของประเทศไทยที่มีภูมินิเวศน์แตกต่างหลากหลาย เป็นอาหารพื้นบ้านที่ทำง่ายกว่าแกงอย่างอื่นมีราคาถูกใช้ผักได้ทุกชนิด มีความยืดหยุ่นสูงมากจะเผ็ดน้อยเผ็ดมากก็ปรับกันได้ มีเทคนิคการปรุงอยู่เล็กน้อยคือต้องต้มด้วยน้ำไม่มากให้สารในเครื่องแกงที่มีเนื้อปลาตำลงใส่มาแล้วที่ปรุงรสออกมาก่อนแล้วจึงปรุงรส เติมผักตามใจ ถ้าได้โขลกเครื่องแกงเองยิ่งหอมชวนกิน มีสูตรเด็ดจากระยองของคุณแม่สมศรี วารีผลให้ลองฝีมือกัน
พร้อมกันนี้ ยังได้แจกสูตรแกงส้ม ตำรับ คุณแม่สมศรี วารีผล เครื่องแกง ประกอบด้วย หัวหอม, พริกแห้ง (พริกจินดา หรือพริกขี้หนู หรือหัวเรือ หรือยอดสนก็ได้) แช่น้ำ ,พริกโอ้ง หรือพริกบางช้างก็ได้ (เพื่อให้สี) แช่น้ำ, กระชาย, กะปิ, เกลือ (นำมาตำรวมกันโดยตำพริกกับเกลือให้แหลกแล้ว ใส่กระชายกับหัวหอมลงตำจนแหลกแล้วจึงนำกะปิลงตำให้เข้ากัน)

ส่วนประกอบอื่น ได้แก่ น้ำมะขามเปียก, น้ำปลา, น้ำตาล, เนื้อสัตว์ เช่น ปลาย่าง (สามารถตำรวมกับพริกแกงจะทำให้น้ำแกงส้มข้น) ปลาสด (เอาเกล็ด ครีบและไส้ออกแล้ว ถ้าเป็นปลาใหญ่ให้หั่นย่อยส่วน กุ้งปลอกเปลือกเอาขี้ออก) ผักต่าง ๆ เช่น ดอกแค มะละกอ (มะละกอสุกกับไม่สุกความหวานต่างกัน ให้ระวังในการเติมน้ำตาล) ผักกาด กวางตุ้ง ไชเท้า ถั่วฝักยาว ฯลฯ ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้น วิธีทำ นำพริกแกงละลายน้ำ (อย่าเพิ่งใส่น้ำเยอะ เพราะระหว่างทำจะมีน้ำจากผักออกมาอีก) ตั้งไฟจนน้ำเดือด ถ้าแกงปลาสดใส่ปลา ถ้าเป็นกุ้งสดให้ใส่หลังจากผักสุกแล้ว เมื่อน้ำเดือดอีกครั้งปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาล ให้รสกลมกล่อมมี 3 รส โดยปรุงให้รสเข้มสักหน่อยเพื่อเผื่อใส่ผักเพิ่มแล้วรสจะจืดลง) เมื่อน้ำเดือดอีกครั้งใส่ผัก โดยใส่ผักที่สุกยากก่อน เมื่อผักสุกแล้วชิมรสอีกครั้ง ปรุงรสตามชอบ (ถ้าใช้พริกแห้งสีจะแดงใช้พริกสดได้แต่แกงสีจะเขียว ๆ) ส่วนแกงส้มของภาคใต้ภาคกลางจะเรียกแกงเหลืองมีรสชาติจัดจ้าน มีเนื้อสัตว์หลายหว่าทางภาคกลาง เครื่องแกงจะมีพริก ขมิ้น กระเทียม เป็นหลักมีความเป็นท้องถิ่นที่ต่างไปจากภาคกลาง

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages