
15 กุมภาพันธ์ 2566 -กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือ ดีป้า แถลงข่าวการจัดทำ ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ กลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสาระสำคัญเรื่องการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 หวังเป็นมาตรการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมเปิดโอกาสสู่ตลาดภาครัฐ ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการดิจิทัลที่มีราคากลางที่ชัดเจน และนำไปสู่การพัฒนาบริการเพื่อประชาชน สอดรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เผยเตรียมพร้อมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้าถึงและสามารถเลือกซื้อสินค้า/บริการดิจิทัลคุณภาพ ผ่านแพลตฟอร์ม TECHHUNT

“บัญชีบริการดิจิทัลเป็นการรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานและราคา ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวช่วยในการคัดกรองสินค้าและบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มองหาสินค้าหรือบริการดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยรัฐสามารถใช้กระบวนการทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

“ดีป้า เชื่อว่า บัญชีบริการดิจิทัลจะเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างมีคุณภาพ โดย ดีป้า เล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัล หรือ ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย แต่ในทางกลับกัน การเติบโตกลับสวนทาง ขณะที่บางรายต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ด้วยเหตุนี้ ดีป้า จึงเร่งทำลายข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงความสามารถผ่านการพัฒนาสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล มีราคาที่สมเหตุสมผล และได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาคประชาชน โดยมีตลาดภาครัฐเป็นแก่นสำคัญ พร้อมต่อยอดสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยที่ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะประเทศไทยบนพื้นฐานของความคุ้มค่า ทั้งคุณภาพและราคา” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังเตรียมพร้อมแพลตฟอร์ม TECHHUNT ที่ได้รวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัล
จากผู้ประกอบการไทยที่มีคุณภาพ และมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีสินค้าและบริการดิจิทัลที่พร้อมขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วมากกว่า 300 รายการ และจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแพลตฟอร์ม TECHHUNT จะเปิดเป็นสาธารณะให้ทุกคน ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและเลือกใช้ได้อย่างสมัครใจ พร้อมด้วยมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่าง ๆ จาก ดีป้า

นอกจากนี้ภายในงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ยังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิจิทัลไทยด้วยตราสัญลักษณ์ dSURE ระหว่าง ดีป้า โดย ผศ.ดร.ณัฐพล และ เอสซีจี โดย นายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ดีป้า และ เอสซีจี มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมยกระดับคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของไทย รวมถึงคัดกรองผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ไม่ได้มาตรฐาน และปกป้องผู้บริโภคจากภัยอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งเกิดการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่มีคุณภาพต่อไป

No comments:
Post a Comment