CPF ขับเคลื่อนการผลิตเนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะ สู่ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน
นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สัตวแพทย์บริการวิชาการสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบัน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดของซีพีเอฟเลี้ยงในฟาร์มระบบปิดที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ ควบคุมคุณภาพและดำเนินการตามหลักอิสระ 5 ประการ ยึดหลักการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม โดยจะใช้สำหรับรักษาที่จำเป็นเท่านั้นตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรก ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อวัตถุประสงค์เร่งการเจริญเติบโต เพื่อลดการเกิดเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาแบบไม่ถูกต้อง สอดคล้องกับหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ขององค์การอนามัยโลก ที่คำนึงถึงสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นองค์รวม
“การจัดการหลักสวัสดิภาพสัตว์ นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร เป็นการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีคุณธรรมในทุกขั้นตอนการผลิตช่วยให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยง่ายและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยศึกษาวิจัยหาจุดเสี่ยง นำไปสู่การพัฒนาแนวทางป้องกันและเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหาร ตลอดจนสิ่งแวดล้อม” นายสัตวแพทย์ดำเนินกล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้นำกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหรือหาแนวทางที่ดีกว่าเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ตั้งแต่ การใช้อาหารเลี้ยงสัตว์ที่เสริมโปรไบโอติกที่ผ่านการตรวจสอบว่าปลอดจากยีนดื้อยาที่เป็นปัญหาสำคัญในคน เพื่อช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ดีขึ้น ส่งผลให้ซีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์เนื้อหมู Cheeva Pork และเนื้อไก่เบญจา ที่ได้รับการรับรองไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู จากสถาบันตรวจรับรอง NSF
บริษัทฯ ยังเพิ่มความเชื่อมั่นในความปลอดภัย โดยการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานสากล จากหน่วยงานภายในและภายนอกตลอดทั้งกระบวนการผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของสุกร ช่วยยืนยันได้ถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรปลอดยาปฏิชีวนะ ล่าสุด บริษัทฯ ยังนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับข้อมูลต่างๆ ช่วยให้การบริหารจัดการฟาร์มและการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจประเมินยีนดื้อยาปฏิชีวนะในฟาร์ม อีกด้วย
การขับเคลื่อนการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผลในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟ สอดคล้องกับเป้าหมายของกรมปศุสัตว์ ในการลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และช่วยส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก.
No comments:
Post a Comment