Green Life Plus ผนึกภาคีเครือข่ายภาคพลังงานรัฐ – เอกชน จัดสัมมนา “EV อุตสาหกรรมดาวรุ่ง จะมุ่งไปทางไหน?” - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, March 11, 2024

Green Life Plus ผนึกภาคีเครือข่ายภาคพลังงานรัฐ – เอกชน จัดสัมมนา “EV อุตสาหกรรมดาวรุ่ง จะมุ่งไปทางไหน?”

Green Life Plus ผนึกภาคีเครือข่ายภาคพลังงานรัฐ – เอกชน จัดสัมมนา “EV อุตสาหกรรมดาวรุ่ง จะมุ่งไปทางไหน?” วางเป้าเสริมแกร่งผู้ประกอบแกร่ง ขานรับเทรนด์ยานยนต์พลังงานสะอาดยุค Net Zero


ข้อมูลจาก EV-Volumes.com ระบุว่า ยอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทั้งแบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (BEV) และแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) ในปี 2023 มีปริมาณ 14.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2022 ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2023 พบว่าในปี 2023 รถยนต์ไฟฟ้า BEV มียอดจดทะเบียนจำนวน 76,366 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 9,678 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า BEV รวมทุกประเภท ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 มีการจดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 100,219 คัน เติบโต 380% เมื่อเทียบกับปี 2565 ด้วยความสำคัญดังกล่าว นิตยสารกรีนไลฟ์ พลัส และกรีนไลฟ์ พลัส ออนไลน์ พร้อมด้วย สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน , The Leader Asia , คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และภาคีเครือข่ายด้านพลังงานร่วมกันจัดงาน EV อุตสาหกรรมดาวรุ่ง จะมุ่งไปทางไหน? ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “อุตสาหกรรม EV กับอนาคตเศรษฐกิจไทย” โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ คือ เสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการได้ทราบถึงเทรนด์และโอกาสในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมกันนี้ในงานได้รับเกียรติ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายภาษีสรรพสามิตกับธุรกิจ EV"

สำหรับหัวข้อเสวนา “อุตสาหกรรม EV กับอนาคตเศรษฐกิจไทย” ได้รับเกียรติจากทาง ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จำกัด นายสุโรจน์ แสงสนิท อุปนายกฝ่ายอุตสาหกรรมและพัฒนาธุรกิจ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นายเทพพันธ์ อัศวะธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ผู้ลงทุน รวมถึงผู้ซื้อจากแวดวงยานยนต์ไฟฟ้าอย่างหลากหลาย โดยประเด็นสำคัญของการพูดคุย สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงภาคบริการว่า ยานยนต์พลังงานสะอาดดังกล่าวนี้ พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไทยสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว

​พร้อมกันนี้ข้อมูลที่สำคัญอีกมิติที่แสดงให้เห็นว่ายานยนต์ดังกล่าวกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ ยอดขายรถไฟฟ้า EV ในประเทศไทยในเดือนมกราคม มียอดจองแล้วกว่า 15,000 คัน โดยวิทยากรทุกท่านให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2024 คาดการณ์ว่าจะมียอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกสำคัญมาจากนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า อย่าง มาตรการ EV 3.0 และ 3.5 ที่ให้เงินอุดหนุน ลดภาษีนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิตสำหรับค่ายรถยนต์ที่ลงนามในข้อตกลง MoU กับกรมสรรพสามิต เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศตามมาตรการสนับสนุน ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค


​“โดยมาตรการ EV 3.5 มีผลบังคับใช้ในปี 2024-2027 เพื่อสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่กำหนดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ภายในประเทศ ในปี 2026 ที่อัตราส่วนการผลิต 2 คัน ต่อการนำเข้า 1 คัน และในปี 2027 กำหนดการผลิตภายในประเทศ 3 คันต่อการนำเข้า 1 คัน” ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเสริม

งาน EV อุตสาหกรรมดาวรุ่ง จะมุ่งไปทางไหน? ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มีความพร้อมตั้งแต่ต้น กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญและขานรับต่อเป้าหมายของไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้อย่างสมดุล ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวคือก้าวที่สำคัญ

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages