รุมฉะบุหรี่ไฟฟ้าคือฆาตกรเงียบ !! เวทีวิชาการดังตอกย้ำ "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็น Toxic Friend - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, June 1, 2023

รุมฉะบุหรี่ไฟฟ้าคือฆาตกรเงียบ !! เวทีวิชาการดังตอกย้ำ "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็น Toxic Friend

รุมฉะบุหรี่ไฟฟ้าคือฆาตกรเงียบ !! เวทีวิชาการดังตอกย้ำ "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็น Toxic Friend เป็นพิษต่อร่างกาย คร่าชีวิตคนตายผ่อนส่ง แฝงสารพิษก่อโรคเพียบ เสี่ยงป่วยหลอดลมตีบ ปอดอักเสบรุนแรง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ จวกแผนการตลาดสุดอำมหิตหลอกลวงไม่เว้นเยาวชนของชาติ

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" ครั้งที่ 12 เรื่อง "คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า" โดย ดร.นวนปิง (Dr.Nuan Ping) แผนกเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมาสทริชท์ สิงคโปร์ กล่าวในเวทีหัวข้อ “บุหรี่ไฟฟ้า : มิตรหรือศัตรู” ว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สูบได้เร็วขึ้นและได้รับสารอันตรายมากขึ้น เช่น การใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการดูดไอโดยไม่ต้องกดเปิดสวิตช์ หรือแบตเตอรี่ให้ความร้อนกับน้ำยาได้มากและรวดเร็ว เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่แรงม้าสูงยิ่งเร่งความเร็วได้สูง บุหรี่ไฟฟ้าก็เช่นกัน ยิ่งกำลังวัตต์สูง ก็ยิ่งส่งสารนิโคตินและสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นภายในเวลาสั้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ส่วนน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใส่แค่นิโคติน แต่มีสารอื่นๆ เช่น กลีเซอรีน โลหะหนัก นิกเกิล รวมถึงสารอนุมูลอิสระ ดังนั้นควันจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ไอน้ำแต่มีสารพิษออกมาด้วย ซึ่งอนุมูลอิสระเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและโรคมากมาย ที่น่าห่วงคือควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนบุหรี่มวน ทำให้คนที่อยู่รอบข้างไม่ลุกหนี และได้รับควันพิษไปด้วย
“บุหรี่ไฟฟ้ายังมีอันตรายจากสารที่ให้ความรู้สึกเย็นวาบในการสูบด้วย ซึ่งสารเหล่านี้มีการใส่ในเครื่องสำอาง ครีม ลิปสติกที่ใช้ทาผิว ซึ่งผ่านการทดสอบในการใช้ทาแล้วว่าปลอดภัย แต่ไม่ผ่านการทดสอบการใช้ในการสูบเข้าปอด ถือเป็นการโกงผู้บริโภค เพราะก่อให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำยาทำให้เกิดการอักเสบและโรคต่างๆ ขอย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่พยายามออกแบบให้ดูเป็นเพื่อนที่เข้าถึงง่าย ข้อเท็จจริงแล้วไม่ปลอดภัย และต้องเรียกว่า Toxic Friend หรือเพื่อนที่เป็นพิษ" ดร.นวนปิงกล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายซ่อนอยู่อีกมากที่ยังไม่รู้ เบื้องต้นที่ทราบคือ บุหรี่ไฟฟ้า 80-90 % ใช้นิโคตินสังเคราะห์ และยังมีสารเคมีอีกมากที่ไม่มีในบุหรี่มวน เช่น สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีมากกว่า 1 หมื่นชนิด มีตัวทำละลายทางเคมี สารให้ความเย็น ทำให้ดูดซึมเร็ว ลดอาการระคายคอ ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งการสูบปริมาณสูงทำให้เกิดหลอดลมตีบ ผู้ป่วยโรคหอบหืดทำให้มีอาการกำเริบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เกิดปอดอักเสบรุนแรง (โรคอิวารี่) ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“ขณะที่คนที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองก็มีอันตรายเช่นกัน ทำให้หลอดลมตีบ เบื้องต้นมีหลักฐานเชื่อมโยงการเกิดมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผลกระทบระยะยาวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีผลกระทบทำลายสุขภาพแน่ๆ เช่น ถุงลมโป่งพองที่สามารถเกิดขึ้นได้ ที่น่าห่วงคือ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยลดการสูบ แต่กลับทำให้สูบมากขึ้น ยิ่งการสูบตั้งแต่เด็กจะนำไปสู่การสูบบุหรี่มวนด้วย โดยสูบทั้งสองอย่างควบคู่กัน ซึ่งธุรกิจยาสูบออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าล่อลวงเด็ก เยาวชน และผู้หญิง” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว 
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นิโคตินสังเคราะห์ในบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสารเสพติด ทำให้เกิดการติดในสมอง เพราะสมองมีตัวรับนิโคตินเมื่อรับเข้าไปทำให้รู้สึกผ่อนคลายลดเครียดและเกิดการติดขึ้นได้ ดังนั้นการส่งเสริมบุหรี่ไฟฟ้าคือการส่งเสริมให้เป็นสังคมติดยาเสพติด เพราะเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การเสพติดอื่นๆ โดยขณะนี้มีการแพร่ระบาดอย่างมาก กลายเป็นแฟชั่นไม่ต้องแอบสูบเหมือนบุหรี่มวนอย่างสมัยก่อน ต้องย้ำว่าเป็นภัยร้ายตัวใหม่ และยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ใครสูบใครนำเข้าถือว่าผิดกฎหมาย
ด้านนายวรยศ บุญทองนุ่ม หรือ แพท พาวเวอร์แพท กล่าวว่า ตนเคยใช้ชีวิตผิดพลาดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กลายเป็นผู้ต้องขังเกือบ 17 ปี เพราะช่วงวัยรุ่นมีความอยากรู้อยากลองและคึกคะนอง เริ่มต้นมาจากการสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ปี เห็นผู้ใหญ่สูบไม่หมดมวนเลยหยิบมาลองสูบ เมื่อเป็นวัยรุ่นก็อยากจะทำในสิ่งที่ดูเป็นผู้ใหญ่คือ ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ซึ่งช่วงนั้นยังเข้าถึงง่ายเพราะไม่มีกฎหมายห้ามเด็กซื้อบุหรี่ และยังไม่มีการห้ามขายแบบแบ่งมวน มีการนัดแนะกับเพื่อนสูบในโรงเรียน จนนำไปสู่ยาเสพติดตัวอื่น  

“บุหรี่ถือเป็นยาเสพติดที่เลิกยากเป็นอันดับต้น ๆ ผลกระทบจากการสูบที่เกิดกับตนเอง ทำให้เสียงพัง ไอ มีเสมหะตลอดเวลา หายใจไม่เต็มปอด ส่งผลต่อคุณภาพเสียงในการร้องเพลงอย่างมาก เมื่อเลิกได้ลมหายใจบริสุทธิ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้าก็อันตรายไม่แตกต่างกันที่จะส่งผลให้เสพติดและนำไปสู่การใช้ยาเสพติดตัวอื่น และอาจก้าวสู่ขบวนการค้ายาเสพติดเหมือนอย่างผม ซึ่งไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้ที่ผมเคยเจอเกิดขึ้นกับเยาวชนไทย” นายวรยศ กล่าว


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages