เริ่มแล้ว! การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ ชิงรางวัลนายกฯ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2023 เปิดตัวทีมเยาวชน 20 ทีมสุดท้าย จากกว่า 200 ทีม ติวเข้ม “นวัตกรรุ่นใหม่” ยกระดับผลงาน สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก
เมื่อวันที่ 15-17 ก.ย. 2566 ที่ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพ (Innovation Camp) การพัฒนาศักยภาพนวัตกรรุ่นใหม่ ด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ว่า หนึ่งในภารกิจของ สสส. คือ การสร้างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพราะปัญหาสุขภาพทั้ง กาย จิต ปัญญา สังคม มีความซับซ้อนขึ้นทุกวัน ต้องใช้วิธีการความคิดกระบวนการใหม่ ๆ นวัตกรรมจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี กิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของ การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2023 โดยกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพ 20 ทีมสุดท้ายในกลุ่ม ม.ปลาย –ปวช. จัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ สานพลังสร้างสรรค์ ต่อยอดสร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์นวัตกร ที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพผนวกแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ
“ความสำเร็จของการประกวด คือ ผลงานถูกต่อยอดใช้งานจริง อาทิ ผลงานจากทีมเสาหลักนำทางจากยางพารา ที่กรมทางหลวงชนบทเปลี่ยนเสาหลักนำทางจากคอนกรีต เป็นเสาจากยางพาราตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2563 ทีมนวัตกรรมเครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัย เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร ผลงานถูกใช้จริงบริเวณจุดจักรยานยนต์รับจ้างเขตบึงกุ่ม เป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยมีแผนพัฒนาระยะที่ 3 เป็นเครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกน็อกแบบพกพา จากการประกวดที่ผ่านมาจะเห็นว่าทุกนวัตกรรมได้ถูกปรับใช้ สังคมได้รับประโยชน์ ผู้เข้าร่วมมีศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ปีนี้หวังว่าการประกวดในปีนี้ จะเกิดผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้ได้จริง ขยายผล ต่อยอด สร้างเครือข่ายของกลุ่มคนทำงานด้านนวัตกรรมต่อไป” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกเราเต็มไปด้วยความก้าวหน้าใหม่ ๆ อิทธิพลทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรม สภาพแวดล้อม มีทั้งดีขึ้นและแย่ลง ต้องมีการคิดค้นหรือนำ “นวัตกรรม” มาใช้ หากพูดถึงนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ คือการหาทางป้องกันตั้งแต่การเจ็บป่วยยังไม่เกิด ทั้งรูปแบบวิธีการ สิ่งประดิษฐ์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นำไปสู่การแก้ปัญหาสุขภาวะ ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน การประกวดครั้งนี้จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้าง“นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ให้แก่เยาวชน ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ รวมทั้งครูที่ปรึกษาที่ร่วมกิจกรรม มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะลูกศิษย์อีกหลายรุ่น ให้มีแนวคิดเป็นนวัตกร และเข้าใจแนวทางสร้างเสริมสุขภาพที่เริ่มต้น จากตัวเอง ชุมชน และสังคมโดยรอบ โดยทุกทีมที่ได้มาอยู่ในกิจกรรมนี้ ได้ผ่านการคัดเลือกมาจากกว่า 200 ทีม ที่สมัครเข้ามาจากทั่วประเทศ
ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการจัดงานประกวดในปีนี้เชื่อในศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่กว่า 100 ชีวิต 20 ทีม ที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน กล้าท้าทาย กล้าเปลี่ยนแปลง และกล้าคิดนอกกรอบเพื่อให้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น ขอให้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากค่ายพัฒนาศักยภาพ ไปพัฒนาผลงานให้เป็นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่นำไปใช้ประโยชน์จริง โดยไม่ได้มุ่งหวังเพียงชัยชนะ แต่มุ่งที่จะสร้าง “เมล็ดพันธุ์นวัตกร สร้างเสริมสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์ ครู สถาบัน ต่อยอดผลงานให้สามารถขยายผลในวงกว้างได้” นายสมยศ กล่าว
No comments:
Post a Comment