วช.ให้ทุน Spearhead ทีมวิจัย มธ. พัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์หมู่เลือดระบบ Colton ช่วยจัดเลือดผู้บริจาคเหมาะสม ปลอดภัยกับผู้ป่วย - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, December 7, 2022

วช.ให้ทุน Spearhead ทีมวิจัย มธ. พัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์หมู่เลือดระบบ Colton ช่วยจัดเลือดผู้บริจาคเหมาะสม ปลอดภัยกับผู้ป่วย


วช.ให้ทุน Spearhead กับทีมวิจัย มธ. พัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton เพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเลือดผู้บริจาคที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ พร้อมต่อยอดวิธีการตรวจจีโนไทป์กับหมู่เลือดระบบอื่นต่อไป

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาในทุกมิติ โดยเฉพาะในแผนงานวิจัยด้านยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ที่เป็นการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลสุขภาวะด้านการแพทย์ครบวงจรและภารกิจด้านสาธารณสุขเพื่อสุขภาพชีวิตและสังคม ซึ่ง วช.ได้สนับสนุนทุนวิจัยประจำปีงบประมาณ 2565 ในแผนงานวิจัยดังกล่าวฯ กับโครงการ “การพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton ด้วยวิธี high resolution melting ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยคนไทยโรคเลือดเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ ณ ถลาง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton เพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเลือดผู้บริจาคที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ
ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ กล่าวว่า เนื่องจากหมู่เลือดระบบ Colton มีความสำคัญในทางคลินิก โดยแอนติบอดีของหมู่เลือดระบบนี้เป็นชนิด IgG เกิดปฏิกิริยาได้ดีในขั้นตอนของ antiglobulin test แต่เซลล์มาตรฐาน screening cells และ panel cells ที่ใช้ในการตรวจแยกชนิดแอนติบอดีที่พบในผู้ป่วย ยังไม่ได้มีการระบุชนิดของอัลลีล CO*A และอัลลีล CO*B เพราะไม่มีแอนติซีรัมจำหน่าย ทำให้เกิดปัญหาในการจัดหาเลือดผู้บริจาคที่เหมาะสมและปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ การตรวจจีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

คณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ของหมู่เลือดระบบ Colton ด้วยวิธี high resolution melting (HRM) ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยคนไทยที่เป็นโรคเลือดเรื้อรัง ที่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ ทั้งนี้เมื่อพัฒนาวิธีการตรวจได้สำเร็จ ผู้วิจัยจะทำการตรวจโดยใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้บริจาคและผู้ป่วยใส่ลงในชุดน้ำยาที่เตรียมขึ้นเอง และนำไปเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแล้ววิเคราะห์ผลผ่านเครื่อง HRM ซึ่งใช้เวลาเพียงสองชั่วโมง จึงสามารถระบุจีโนไทป์และทำนายว่าเป็นแอนติเจนชนิดใดได้

สำหรับจุดเด่นของงานวิจัยดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลความถี่ของอัลลีล CO*A และอัลลีล CO*B ในผู้บริจาคเลือดและผู้ป่วย ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้ จะสามารถนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติได้ รวมทั้งการตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS ต่อไป

ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ออกแบบไพร์เมอร์ที่จำเพาะกับอัลลีล CO*A และ CO*B ของหมู่เลือดระบบ Colton สำหรับการตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ด้วยวิธี DNA sequencing รวมทั้งศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการตรวจจีโนไทป์ด้วยวิธี HRM ร่วมกับวิธีพีซีอาร์เอสเอสพี (PCR-with sequence-specific primer, PCR-SSP) โดยได้ทำการตรวจในตัวอย่างดีเอ็นเอผู้บริจาคเลือดจำนวน 400 ราย พบว่า ผลการตรวจจีโนไทป์ของอัลลีลหมู่เลือดระบบ Colton ด้วยวิธี DNA sequencing ให้ผลตรวจที่ชัดเจนและถูกต้อง สามารถใช้เป็นตัวอย่างควบคุมคุณภาพของการตรวจวิเคราะห์จีโนไทป์ด้วยวิธี HRM และ PCR-SSP ได้  โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาชุดตรวจทั้งสองวิธี

ทั้งนี้เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้น คณะผู้วิจัยจะร่วมมือกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ประยุกต์ใช้วิธีการตรวจจีโนไทป์หมู่เลือดระบบอื่นเพิ่มเติม สำหรับการเตรียมเซลล์มาตรฐานในการตรวจแยกชนิดแอนติบอดีในผู้ป่วยที่มีปัญหาการจัดหาเลือดที่เข้ากันได้ยากต่อไป 
  

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages