31 พ.ค.วันงดสูบบุหรี่โลก “อาจารย์มหิดล” ปลุกสังคมร่วมต้านบุหรี่ไฟฟ้ามีสารอันตรายนิโคตินทำร้ายสุขภาพคนไทย หลังพบเยาวชนตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น พร้อมชูนวัตกรรมสนับสนุนช่วยเลิกบุหรี่ได้
รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องนวดเท้าเพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่ การดื่มสุราและยาเสพติด กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ทั่วโลกเนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม “วันงดสูบบุหรี่โลก” โดยระบุว่าหลังได้มีการเดินหน้ารณรงค์การเลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2530 มีแนวโน้มลดลงมาตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงโควิดมีการณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ควบคู่ ในประเทศไทยพบว่าการสูบบุหรี่ลดลง 2 % ซึ่งต้องดูว่าตัวเลขจะปรับขึ้นหรือไม่หลังบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาบุกตลาดอย่างหนัก แม้จะมีกฎหมายควบคุมห้ามจำหน่าย แต่รูปแบบการตลาดที่คุกคามทำให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากลุ่มวัยรุ่นหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าค่อนข้างสูง เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเปิดตัวว่าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้เป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้คน นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลว่าไม่มีนิโคติน รูปแบบสวยงาม การแต่งกลิ่นรสชาติต่างๆ จูงใจให้เด็กๆอยากลองมากขึ้น รวมถึงมีความเชื่อว่าบุหรี่กลิ่นเหม็นเป็นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นหอมจะปลอดภัย ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ทั่วไปอันตรายไม่ต่างกัน“จากการสำรวจในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยพบว่าจำนวนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 20 % ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ทั่วประเทศอยู่ที่ 17 % ในภาพรวมของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ถึง 1 % แต่จากการสำรวจเฉพาะกลุ่มพบว่าสูงมาก และที่สำคัญราคาถูกลงหาซื้อง่าย รูปแบบสวย และความเชื่อที่ผิดๆคิดว่าไม่มีนิโคติน ไม่อันตราย จึงลองกันมากขึ้น ทั้งที่ความจริงบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินทำให้เสพติดได้ นอกจากนี้ยังมีสารอันตรายที่เกิดจากการเผาไม้ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น”
รศ.ดร.มณฑา กล่าวว่าเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกของทุกปีทางองค์การอนามัยโลกจะมีคำขวัญออกมาทุกปีเพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม เช่นการป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ มาตรการช่วยเลิก รณรงค์สร้างสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ไทยจึงได้มีมาตรการต่างๆขึ้นมากมาย ทั้งการให้ความรู้ การป้องกัน การเฝ้าระวัง และการช่วยเลิก โดยประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกตามกรอบอนุสัญญาการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ได้ลงสัตยาบันร่วมกัน ปีนี้ใช้ธีมเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามกลุ่มเยาวชนโดยมีคำขวัญ “บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษ เสพติดอันตราย“ เพื่อให้ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เพราะจากการตรวจพบว่ามีนิโคติน และสารสกัดที่ใช้เป็นสารเคมีอันตรายทั้งสิ้น องค์การอนามัยโลกกำหนดทิศทางให้ทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละปีซึ่งประเทศไทยจะรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กับบุหรี่ทั่วไปด้วย
“สำหรับจุดอ่อนของการรณรงค์คือ เรื่องกฎหมาย เช่น บุหรี่ไฟฟ้าถ้ามองเรื่องสุขภาพเป็นปัญหาแน่นอนเพราะมีต้นทุนเรื่องเจ็บป่วย อีกมุมอาจมองเป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้ามองรวมๆแล้วไม่คุ้มเนื่องจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรัง เจ็บป่วยนาน การรักษาต้องใช้เงินจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และการทำให้นักสูบเก่าเลิกบุหรี่ให้ได้ จึงยังเป็นจุดอ่อนเป็นปัญหาจะทำอย่างไรไม่ให้มีนักสูบใหม่มาทดแทน ซึ่งจะทำอัตราการสูบไม่ลดลง อีกทั้งการช่วยเลิกบุหรี่ทำได้ยาก เพราะคนสูบบุหรี่ไม่ใช่ผู้ป่วยจะไม่เข้าสู่ระบบการรักษา จึงต้องช่วยกันทำอย่างไรให้ระบบการช่วยเลิกเข้าถึงและมีตัวช่วยให้เขาเหล่านั้นเลิกได้ง่ายขึ้น“
รศ.ดร.มณฑา กล่าวว่า เพื่อรณรงค์และจัดทำระบบการช่วยเลิกบุหรี่ให้ประชาชน ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องนวดเท้าเพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่ การดื่มสุราและยาเสพติด โดยเบื้องต้นเป็นการช่วยป้องกัน ควบคุมการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เน้นเรื่องบุหรี่ เวลาลงชุมชนไม่ได้ทำเฉพาะรณรงค์ จัดสิ่งแวดล้อม แต่มองว่าถ้าจะลดอัตราการสูบบุหรี่ให้ลดลงตามที่ประเทศไทยตั้งเป้าไว้คือปี 68 เหลือ 15 % ปี 70 เหลือ 14 % หมายถึงลดอัตราการสูบบุหรี่ลงจำนวนคนเลิกสูบบุหรี่ต้องมากขึ้น ในขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่เข้ามา คนที่สูบอยู่แล้วจะทำให้เลิกต้องทำอย่างไร จะเห็นได้ว่าระบบบริการสาธารณสุขเดิมคือการให้กำลังใจผ่านสายด่วน 1600 แต่หลายคนไม่ได้ผลจากโครงการที่ สสส.สนับสนุนให้ทำเรื่องของการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐานจึงพบว่าชาวบ้านหลายคนอยากเลิก และถามถึงยาช่วยเลิก แม้จะแนะนำว่าการเลิกบุหรี่เป็นเรื่องของใจแต่สุดท้ายเขาก็อยากได้ยาอยู่ดี จึงต้องใช้ประกอบกัน เมื่อมีใจแล้วจะใช้ตัวช่วยอะไรดี เบื้องต้นใช้สมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำคือหญ้าดอกขาวเป็นชาชง แต่ขั้นตอนการใช้ยุ่งยาก ไม่สะดวก ทาง สสส.จึงสนับสนุนให้พัฒนานวัตกรรมช่วยเลิกการสูบบุหรี่ที่ใช้สะดวกมากขึ้น จึงได้พัฒนาเป็นยาอมสมุนไพร ลูกอมเยลลี่พกง่าย ทำให้ปากชา ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ และช่วยให้ปากหอม ลดแบคทีเรียในช่องปาก ยาดมพริกไทยดำช่วยให้ไม่อยากสูบบุหรี่ มีทั้งแบบสูดดมและแบบน้ำ ยาอมลูกกลอน แบบชาชง เพื่อให้มีความหลากหลายเลือกใช้ได้ตามความชอบ
นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมนวดกดจุดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ซึ่งเริ่มจากการอบรมนวดกดจุดเท้าให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ในโครงการสามล้านสามปีเลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชันย์ปี 2560 เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศเลิกบุหรี่ ซึ่งการนวดกดจุดเป็นศาสตร์จีน การนวดนิ้วโป้งเท้าจะสะท้อนไปยังสมองมีต่อมรับรสจากการทำวิจัยพบว่าการนวดทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไป คนที่สูบบุหรี่จะมีอาการเหม็นถึงขั้นอาเจียน และจากการทดลองนวดกดจุดด้วยมือ 1000 กว่าราย ลดได้ 18 % แต่ปัญหาคือการใช้มือกดจุดความแรงไม่สม่ำเสมอ จึงได้พัฒนาเป็นรองเท้านวดโดยใช้กระแสไฟฟ้าช่วยกระตุ้น แต่รองเท้าก็ยังมีขนาดใหญ่และต้องมีสายชาร์ต จึงได้พัฒนาเป็นเครื่องนวดไฟฟ้าใช้รีโมทควบคุม ซึ่งกลไกลการทำงานเหมือนรองเท้าแต่ไม่มีสายไฟ ช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ง่ายขึ้นแต่ยังมีขนาดใหญ่ จึงได้คิดค้นเป็นแบบสวมนิ้วโป้งเท้าแทนมีขนาดเล็กใช้ได้ทุกที่พกพาสะดวกแป้นควบคุมการทำงานมีขนาดเล็ก ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามพัฒนาใช้งานง่ายได้ผลจริง อยู่ในขั้นที่เราต้องพยายามวิจัยต่อว่าจะทำให้อย่างไรให้คนที่อยากเลิกบุหรี่ใช้ได้ง่ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังพัฒนาเป็นเครื่องนวดก็ได้ทำวิจัยต่อพบว่าการใช้ได้ผลดีช่วยให้คนเลิกบุหรี่ลงได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งทั้งสมุนไพรและเครื่องนวดได้ผ่านการวิจัยทดลองความปลอดภัยและเห็นผลมาแล้ว สำหรับรองเท้ากดจุดมีให้ทดลองใช้ที่ศูนย์เรียนรู้นำร่องในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.)บางแห่งเท่านั้น ส่วนนวัตกรรมเครื่องกดจุดไฟฟ้ายังไม่มีจำหน่ายอยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร สำหรับผู้ที่สนใจสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ขอรับได้ที่ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1600
No comments:
Post a Comment