มูลนิธิทันตนวัตกรรม เปิดผลงานนักวิจัยไทยพัฒนา “สารผนึกหลุมร่องฟันเรซิน” สำหรับใช้ในประเทศได้เอง ช่วยประหยัดต้นทุนจากการนำเข้า ทำให้มีผลิตภัณฑ์ช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุอันเป็นปัญหาสำคัญทางด้านทันตกรรม พร้อมเตรียมต่อยอดนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพิ่มเติม
นางสาวกมลชนก สกุลประเสริฐ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาDIF เพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯนางสาวกมลชนก สกุลประเสริฐ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาDIF เพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดเผยว่ามูลนิธิฯ ได้ร่วมกับคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สารผนึกหลุมร่องฟันเรซิน ชนิดแข็งตัวด้วยแสง (Product Light Curing Resin Pit and Fissure Sealant) ซึ่งที่ผ่านมาต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงมาก
สารผนึกหลุมร่องฟันเรซิน
ทั้งนี้ นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์สารผนึกหลุมร่องฟันที่ช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุสำหรับใช้งานในประเทศแล้ว ยังเป็นการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชดำรัสว่าทันตแพทย์ไม่ควรสนใจแต่การรักษาอย่างเดียว ควรรู้จักที่จะค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตเองได้ในประเทศไทยเป็นการลดการนำเข้า ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านทันตกรรม มาแล้วหลายชนิด
ปัญหาเรื่องฟันผุเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก วัยทำงาน วัยกลางคน จนถึงวัยผู้สูงอายุ ฟันผุมักพบบริเวณซี่บดเคี้ยว ซึ่งมีหลุมร่องฟัน ทำให้เศษอาหารมักไปติดและค่อนข้างทำความสะอาดยาก หากร่องฟันลึกจึงเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ ทันตแพทย์จึงนิยมใช้ผลิตภัณฑ์สารผนึกหลุมร่องฟันเรซิน ชนิดแข็งตัวด้วยแสง เคลือบหลุมร่องฟันให้ผู้ป่วย เพื่อให้ร่องฟันกลับมาตื้นขึ้น ลดการติดของเศษอาหารทำให้แปรงฟันหรือทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น และเพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุได้
นางสาวธันย์ชนก สุริยะพงศ์ประไพ หัวหน้าศูนย์พัฒนารากฟันเทียมไทยเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9
มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ
ด้านนางสาวธันย์ชนก สุริยะพงศ์ประไพ หัวหน้าศูนย์พัฒนารากฟันเทียมไทยเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สารเคลือบหลุมร่องฟันเรซิน ชนิดแข็งตัว ด้วยแสง ของมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ ผ่านการทดลองทดสอบในสัตว์ทดลอง และผ่านการทดลองทดสอบประสิทธิผลในมนุษย์ (Clinical trial) เรียบร้อยแล้ว และเตรียมการผลิตในระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ทางการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
สิ่งที่นักวิจัยยังคงต้องดำเนินการต่อไปคือการพัฒนาสูตรให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น และพัฒนาการผลิตในปริมาณที่มากเพียงพอในการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อมีการพัฒนานวัตกรรมทางด้านทันตกรรมขึ้นมาได้ มูลนิธิฯ จะกระจายผลิตภัณฑ์ไปตามหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ทันตแพทย์ได้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับประชาชนคนไทยโดยทั่วถึงกัน
No comments:
Post a Comment