สสส.เตรียมความพร้อม 4 ด้าน “สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม” รับมือประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสุขภาวะสร้างกลไกสู่นโยบายที่ยั่งยืน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทยในปี 2565 ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Aged Society) ว่า สังคมผู้สูงวัยเป็นวัยที่ต้องการดูแลเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ซึ่งในปี 2565 จะมีผู้สูงอายุในประเทศไทยประมาณ 13 ล้านคน โดย 10 % เป็นผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตลำพัง ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก และอีก 20 % เป็นคู่แต่งงาน แต่ไม่มีลูก ซึ่งใน 2 กลุ่มนี้จะมีความเหงาไม่ต่างกัน เพราะไม่มีลูกหลานคอยดูแลประคับประคองช่วยให้ชีวิตสดชื่น ดังนั้นการดูแลตัวเองจึงสำคัญ และการปรับตัวเพื่อไม่ให้เฉาไปตามวัยจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆเรื่องตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วัยสูงอายุ
นางภรณี กล่าวว่าการปรับตัวผู้สูงวัยไม่ควรอยู่คนเดียว ควรออกไปเที่ยวบ้าง หรือ ไปหากิจกรรมทางสังคมทำร่วมกับคนอื่นบ้าง เพราะการมีเพื่อนจะช่วยลดความเหงาและความซึมเศร้าลงได้ ในปัจจุบันตามต่างจังหวัดก็มีการจัดตั้งชมรม ประชาคมต่างๆ จัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุได้ทำร่วมกัน ส่วนใน กทม.เองมีการจัดกิจกรรมของศูนย์สุขภาพดีตามเขตต่างๆอย่างสม่ำเสมอ โดย สสส.ได้จัดให้มีกิจกรรมทางเลือก เช่น สนับสนุนทีมยังแฮปปี้ YoungHappy จัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุดูหนังแล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน หรือจัดคอร์สดูแลสุขภาพให้นำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ สสส.ยังจัดกิจกรรมออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกในการออกจากบ้าน มีวีดีโอสอนการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ การให้ความรู้ในหลายมิติ การออกกำลังกาย ตลอดจนให้ความรู้เรื่องสิทธิต่างๆ เช่น เรื่องอาหาร การท่องเที่ยว ดนตรี กีฬา นอกจากนี้ สสส.ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดให้มีการเรียนรู้ผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.thaihealth.or.th หรือ เพจยังแฮปปี้ YoungHappy ซึ่งจะมีกิจกรรมเวิร์คช้อปมากมายการส่งเสริมในมิติต่างๆที่ทำให้ผู้สูงอายุสนุกและได้สาระอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ สสส.มีนวัตกรรม “ธนาคารเวลา” ซึ่งเป็นการออมเวลาแทนเงิน ถือว่าตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุมาก เพราะกิจกรรมบางอย่างไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน ขณะที่เวลาของทุกคนมีค่าเท่ากัน ซึ่งนวัตกรรมนี้มีแนวคิดต้นแบบมาจากต่างประเทศเพื่อรองรับสังคมสูงวัยสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะการที่เรามีจุดแข็งอยู่ที่รูปแบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นไปในลักษณะของเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน เน้นทำกับคนรู้จักกันก่อน แล้วจึงค่อยขยายออกไปอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ขณะนี้มีชุมชนต้นแบบทั้งหมด 40 แห่งและประสบความสำเร็จ สมาชิกมีความสุขกับการใช้ธนาคารเวลามาดูแลกันเอง สำหรับชุมชนที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกับทางธนาคารเวลาหรือนำแนวคิดไปใช้ในพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดได้ทางแฟนเพจเฟสบุ๊ค “ธนาคารเวลา” จะมีตัวอย่างพื้นที่ต่างๆที่ดำเนินการแล้ว โดยสามารถนำโมเดลหรือแนวคิดไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ตามความสะดวกและเหมาะสม
ในเดือนตุลาคมนี้เป็นเดือนที่มีวันผู้สูงสากล สสส.ได้สนับสนุนการเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัยและผู้สูงอายุใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านสุขภาพ สสส.สนับสนุนเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมาะสมตามช่วงวัย ไม่รสจัดเกินไป ผู้สูงอายุต้องดูแลฟันให้ดีก่อนอายุ 60 ปีเพื่อให้ไม่มีปัญหาการทานอาหารให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน รวมถึงควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมตามวัย 2.ด้านเศรษฐกิจ สสส.สนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีการประเมินความพร้อมเรื่องการออมก่อนเกษียณ ซึ่งตามตัวเลขของตลาดหลักทรัพย์ระบุอายุ 60 ปีแนะนำต้องมีเงินเก็บโดยเฉลี่ย 4 ล้านบาท 3.ด้านสังคม สสส.สนับสนุนความเข้มแข็งของสังคมผู้สูงอายุและเพิ่มทางเลือกกิจกรรมทางสังคมให้ผู้สูงอายุทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดได้เลือกเข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจและเหมาะสม นอกจากนี้ยังให้ความรู้การป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุไม่ให้ถูกหลอกทางสังคมออนไลน์ด้วย 4.ด้านสิ่งแวดล้อม สสส.สนับสนุนการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เรื่องของราวจับพื้นบ้าน และสิ่งของกีดขวางทางเดิน เพื่อป้องกันผู้สูงอายุหกล้มในบ้านของตัวเอง
“สสส.ยึดมั่นสร้างสุขภาวะให้ผู้สูงอายุทุกกลุ่ม และพัฒนาระบบ กลไกต่างๆ ที่รองรับสังคมสูงวัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติเรื่องสังคมสูงวัยที่ยกให้แนวคิดธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วน ที่ภาครัฐสนับสนุนให้ทุกฝ่าย ดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม สสส.มีเจตนารมณ์ในการพัฒนานวัตกรรมระบบ กลไกต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยจนเกิดเป็นกลไกและนโยบายที่ยั่งยืน”นางภรณีกล่าว
No comments:
Post a Comment