TCMA เร่งเดินเครื่องทุกภาคส่วนใช้ปูนลดโลกร้อน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, July 22, 2022

TCMA เร่งเดินเครื่องทุกภาคส่วนใช้ปูนลดโลกร้อน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก”









TCMA เร่งเดินเครื่องทุกภาคส่วนใช้ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) สร้างอีโคซิสเต็มมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่ Thailand Cement Net Zero 2050


สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ประกาศความมุ่งมั่นแผนกระตุ้นใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 เพื่อทดแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิมทั้งหมด พร้อมขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกอีก 1,000,000 ตัน CO2 ให้สำเร็จในปี 2566 มุ่งสร้างอีโคซิสเต็มลดก๊าซเรือนกระจก นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยก้าวสู่ Net Zero 2050


นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA ประกาศความมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการยกระดับขีดดวามสามารถในการผลิตไปพร้อมกับการเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก สนองตอบนโยบาย Thailand Net Zero “อุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เกี่ยวเนื่องไปกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 7.7 ของ GDP ประเทศ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ ไทยดำเนินไปในทิศทางเดียวกับนโยบายพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความเจริญเติบโตของประเทศในด้านต่างๆ อาทิ โครงการเมกะโปรเจกต์ ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมเป็นต้น



สำหรับการใช้งานปูนซีเมนต์ ประมาณร้อยละ 89 เป็นปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้างและงานหล่อผลิตภัณฑ์คอนกรีต ประมาณร้อยละ 10 เป็นปูนซีเมนต์สำเร็จรูป และอีกร้อยละ 1 เป็นปูนซีเมนต์สำหรับงานพิเศษ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ล้านตัน/ ปี คิดเป็นร้อยละ 50 – 60 ของกำลังการผลิตโดยรวม” นายชนะ กล่าว

TCMA ยังคงเดินหน้าร่วมชับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบัน 12 โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของไทยตั้งกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ กำลังการผลิตรวม 60.15 ล้านตันต่อปี เพื่อสนองตอบความต้องการใช้งานทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลก จึงนำไปสู่การร่วมกันจัดทำ Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 เพื่อให้ตลอดกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หนึ่งในสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อน

ตัวอย่างที่ดำเนินการเช่น การวิจัยพัฒนาด้านวัสดุและนำเทคโนโลยีการบดปูนซีเมนต์เข้ามาใช้ เกิดเป็น ‘ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก)’ และกระตุ้นให้มีการใช้งานแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิมโดยเร็ว หรือการนำวัสดุไม่ใช้แล้ว (Waste) จากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน มาสู่กระบวนการแปรสภาพและใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เป็นต้น

“TCMA มีความมุ่งมั่นและผลักดันให้ใช้งานปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) เพื่อทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์ชนิดเดิมทั้งหมดภายในปี 2566 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ตัน CO2 โดยประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) มอก. 2594 สามารถใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท1 ได้เป็นอย่างดี ทั้งงานโครงสร้างทั่วไป งานโครงสร้างขนาดใหญ่ งานพื้นทาง โดยสิ่งสำคัญ คือ ช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันในหลายประเทศมีการใช้ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) อย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปมีสัดส่วนการใช้งานมากกว่าร้อยละ 75” นายชนะ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ TCMA ทำงานร่วมกับ GCCA (Global Cement and Concrete Association) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านซีเมนต์และคอนกรีต ซึ่งเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยให้เป็นในทิศทางเดียวกับระดับโลก เพื่อการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593 พร้อมนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยเข้าร่วมงาน COP 27 ในเดือนพฤศจิกายน นี้ ที่ประเทศอียิปต์

“การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GCCA เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยไปสู่ระดับโลก เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมให้เกิดความแข็งแกร่งและยั่งยืน ร่วมกันสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้เกิดขึ้น” นายชนะ กล่าวทิ้งท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages