วช. ใช้เวที “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” เปิดแผนกำลังคนด้าน ววน. - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, August 10, 2023

วช. ใช้เวที “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” เปิดแผนกำลังคนด้าน ววน.

วช. ใช้เวที “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” เปิดแผนกำลังคนด้าน ววน. สู่การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน 
        
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 หรือ Thailand  Research Expo 2023 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 7 - 11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ถือเป็นเวทีรวบรวมวงการนักวิจัยและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

 เพื่อสร้างความตระหนักและรับรู้ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 จึงได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “แผนกำลังคน ววน. สู่การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย มี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. ได้จัดทำแผน ววน. 5 ปี เพื่อเป็นกติกาใหม่ในการพัฒนาให้สอดคล้องกับทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยในแผนด้านการพัฒนาบุคลากร วช. เป็นเจ้าภาพร่วมกับ สกสว. ในการสร้างบุคลากรด้านงานวิจัยให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การเตรียมบัณทิต การสร้างงาน การใช้ประโยชน์ และการสร้างระบบนิเวศ แต่โดยภาพรวมของเส้นทางสู่อาชีพยังมีปัญหาหลายเรื่อง อาทิ การขาดแคลนนักวิจัยมืออาชีพในมหาวิทยาลัย ความต้องการบุคคลากรที่มี Talent สูง แต่ไม่สามารถรักษาคนเก่งให้ทำงานในภาครัฐได้ ซึ่ง สกสว. พยายามปิดช่องว่างโดยการให้ทุนวิจัยในรูปแบบใหม่ ได้แก่ ทุน FF เพื่อรักษานักวิจัยภาครัฐไว้ ขณะที่มีตัวเลขเกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาคนของไทย ควรจะทำมากน้อยเพียงใด ตัวเลขของนักวิชาการชั้นแนวหน้าในระบบสถาบันอุดมศึกษาของเราอยู่ที่ 74,000 คน เป็นนักวิจัยชั้นแนวหน้าเพียง 1,500 คน ตามเป้าหมายเราอยากได้กำลังคนระดับสูงปีละ 10,000 คน แต่งบประมาณจาก ววน. ที่ได้รับขณะนี้ เรามีกำลังคนได้เพียงปีละ 2,600 คน และในความจริงทำได้เพียง 1,200 คน ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก

 
     
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ติดตามจากการฉายภาพของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเห็นตัวเลขของการใช้งบวิจัยของประเทศที่ขยับเป้าไปสู่ความจริงมากขึ้นตั้งแต่มีการปฏิรูประบบ ววน .ของประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 เราเห็นเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น จึงต้องขอขอบคุณหน่วยงานด้าน ววน. ที่ได้ร่วมมือกัน ในส่วนของ วช. ยังมองไปถึงภาพรวมในระยะไกลมีการไล่ระดับต่อไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากการวางแผนและกำหนดเป้าหมาย วช. ยังได้ดำเนินการด้านพัฒนาบุคลากรอีกหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยให้มีคุณธรรม จริยธรรม และมาตรฐานและส่งเสริมผู้มีศักยภาพสูงให้เข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร การให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นใหญ่, การมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัย หรือการจัดงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ก็เป็นตัวอย่างงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่เข้ามาแสดงผลงานที่ทำให้เห็นความสำเร็จ มีเวทีที่สามารถสร้างโอกาสให้เติบโตต่อไป  นอกจากนี้ ในปี 2566 วช. ยังได้ริเริ่มสนับสนุนให้ทุนแก่ Hub of Talent ในการขับเคลื่อนให้เกิดการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวว่า คนเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ บพค. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคนสมรรถนะสูง และเปิดโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ สร้างทั้งคนและระบบนิเวศที่มีความเหมาะสมโดยมีเป้าหมายผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง 28 คนต่อ 10,000 คน และในปีหน้า 30 คน โดยเมื่อถึงปี 2570 เป้าหมายจะอยู่ที่ 40 คน 
     
ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวจากเดิมที่ยังคิดในเชิงวิชาการ ทำบัญชีไม่เป็น บริหารไม่เป็น ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย วงจรในระดับมหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาคนเก่งและดึงคนเก่งให้อยู่ได้ เราไม่ต้องการ paper จำนวนมาก แต่ทำอย่างไรจะเป็นผลงานดัง ส่วนตัวอยากเห็นทิศทางที่ชัดเจนของมหาวิทยาลัย ไม่อยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนทุ่งทานตะวันที่บานในระยะสั้นๆแล้วก็แห้งตาย แต่ควรเป็นป่าอะเมซอนที่มีอายุเป็นร้อยปี การวางแผนในการพัฒนากำลังคน ควรวางให้เป็นเหมือนป่าอะเมซอน โดยปัจจัยสำคัญที่จะทําให้มหาวิทยาลัยประสบความสําเร็จในการสร้างนักวิจัย ทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ความสามารถของนักวิจัย 2. การสนับสนุนของหน่วยงานและทีมงาน (Supporting Teams) 3. การสนับสนุนขององค์กรระดับชาติ และ 4. การให้คําแนะนําจากที่ปรึกษาที่ดี (Mentorship) ผ่านการมี Mentor ซึ่งจะทําให้งานวิจัยมีความราบรื่นและมีความก้าวกระโดด นําไปสู่เป้าหมายความสําเร็จของนักวิจัยได้อย่างมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
         
วช. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมในงาน มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 และภาคภูมิใจที่รวมพลังแห่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนกำลังคน ววน. รองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages