สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ผลงานเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ดัน “ดร. ชนะ ภูมี” ร่วมนั่งในทีมบอร์ดบริหารสมาคมผู้ผลิตซีเมนต์และคอนกรีตโลก (GCCA) เร่งเดินหน้าวาระสำคัญขับเคลื่อนซีเมนต์โรดแมป สู่ Global Connectivity เพื่อบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนในซีเมนต์และคอนกรีตเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยถึง ความสำเร็จจากความร่วมมือของสมาชิก TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกรายที่ให้ความสำคัญต่อการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมและเดินไปในทิศทางเดียวกัน นำมาสู่การจัดทำ Thailand 2050 Net Zero Cement & Concrete Roadmap รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมมือเปลี่ยนแปลงการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เช่น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนลดโลกร้อน มาใช้แทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิมที่ปล่อยคาร์บอนสูง และการสร้างความยั่งยืนจากอุตสาหกรรมสู่ชุมชน จนมาเป็นเป็นต้นแบบของการสร้างกระบวนการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยผลงานการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในการผนึกความร่วมมืออุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตของไทย มุ่งสู่ Net Zero นำมาสู่การยอมรับและได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก GCCA ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดใหม่ (บอร์ด) ของสมาคมผู้ผลิตซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association: GCCA) วาระปี 2566-2568
“ในแนวทางของการสร้างความร่วมมือและลงมือทำ ส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีผู้เข้าร่วมสนับสนุนขยายวงกว้างที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำผ่านอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต ซึ่งการได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในบอร์ด GCCA ครั้งนี้ นับเป็นความภูมิใจและต่อยอดกลยุทธ์ความสำเร็จในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซีเมนต์ของไทยไปเชื่อมโยงกับโมเดลระดับโลกแบบบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนในซีเมนต์และคอนกรีตเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593” ดร.ชนะ กล่าว
นอกจากนี้ TCMA ยังริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) จนทำให้เกิดต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย ที่จังหวัดสระบุรี เรียกว่า “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” โดยร่วมมือกันดำเนินงาน ทั้งในด้านพลังงาน (Energy) ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) ด้านการจัดการของเสีย (Waste) ด้านการเกษตร (Agriculture) และด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF) สอดคล้องตาม Thailand NDC Roadmap ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี วิจัยนวัตกรรม ปรับปรุงกฎระเบียบ และสร้างความเข้าใจ มีการคิดค้นกระบวนการทำงานใหม่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบ win-win-win จนทำให้มีความก้าวหน้าดำเนินงานได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
จากการสร้างความร่วมมือกันทั้งจังหวัดในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวคู่กับชุมชน จึงนับได้ว่าเป็นเป็นการทำงานอย่างบูรณาการของ TCMA ซึ่งเป็นสมาคมความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยในการขับเคลื่อนทั้งภายในประเทศ จากระดับชุมชน อุตสาหกรรม จนถึงระดับประเทศ เชื่อมกับภาพรวมระดับโลก สู่ GCCA และ เชื่อมต่อไปยัง COP หรือ World Economic Forum ในการเชื่อมโยงแหล่งทุนต่าง ๆ (Green Fund) เข้ามาสนับสนุนเพื่อบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป
No comments:
Post a Comment