หรือเรากำลังจะเป็นแบบญี่ปุ่น - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, June 3, 2024

หรือเรากำลังจะเป็นแบบญี่ปุ่น

หรือเรากำลังจะเป็นแบบญี่ปุ่น..โดย พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุล  กรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง


          ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เรามักได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่า ค่าเงินเยนอ่อนมาก เศรษฐกิจไม่เติบโต หรือบางช่วงเวลาก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่ติดลบ ระดับราคาสินค้าต่ำลง เป็นภาวะที่เรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession  ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ และยังไม่มีท่าที่ที่จะหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวได้  


          รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหามาตลอด เช่น เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อจูงใจให้ประชาชนรีบนำเงินออมออกมาใช้จ่าย  การแจกคูปองซื้อสินค้าเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย  การลดดอกเบี้ยลงจนอยู่ระดับต่ำใกล้ศูนย์ เพื่อจูงใจให้ใช้จ่ายแทนการออม  รวมทั้งรัฐบาลก็ใช้จ่ายมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 200% ของรายได้ภายในประเทศ (GDP)  ดูญี่ปุ่นแล้วทำให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยจะเดินตามรอยประเทศญี่ปุ่นหรือไม่


          ประเทศไทยในขณะนี้ก็อยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้า โดยอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% เมื่อปีที่แล้ว การเติบโตของประเทศดูจะค่อยๆลดต่ำลงจากเศรษฐกิจที่อยู่แนวหน้าในอาเซียนช่วงก่อนวิกฤติ ปี 2540 มาเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตช้า  การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิดก็ช้ากว่าประเทศอื่น จนเราแทบจะรั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม เติบโตอย่างรวดเร็วจากเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในเวียดนามมาก  การส่งออกที่ก้าวกระโดดนำหน้าประเทศไทยไปแล้ว จึงน่าสนใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทย


          ถ้าเราลองดูข่าวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศไทยที่นักวิเคราะห์หลายท่านให้ความเห็นไว้ ก็พอจะสรุปและ เทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่นได้ดังนี้

      ประการแรก เรื่องโครงสร้างประชากร  ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงวัย”แล้วในปี 2567 โดยมีผู้ที่มีอายุ เกิน 60 ปีมากกว่า 25 % ของประชากรรวม คือราว 13 ล้านคน เทียบกับญี่ปุ่นมีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ถึง 38%  ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ระดับ 1.4 คือผู้หญิง 1 คนมีบุตร 1.4 คน ทำให้ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่แล้วในช่วง 1-2ปีที่ผ่านมา  


          การที่เราเป็นสังคมสูงวัยก็คงสร้างปัญหาคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น คืออุปสงค์มวลรวมในประเทศลดลง เพราะการใช้จ่ายในหลายหมวดสินค้าลดลงตามรายได้  แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น การที่เรามีคนเกิดน้อยแรงงานก็น้อยลงคนเกษียณมากขั้นย่อมเป็นภาระทางการคลัง  เพราะคนเสียภาษีลดล แต่รัฐและกองทุนสวัสดิการต่างๆต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

        คำถามคือในอนาคตเราจะสามารถดำรงวินัยทางการคลังด้วย  การกำหนดระดับเพดานหนี้สาธารณะในรูปแบบต่างๆได้หรือไม่  ถ้าเราเก็บภาษีได้น้อยแต่มีรายจ่ายมาก  ในขณะนี้รัฐก็เก็บรายได้ได้น้อยกว่ารายจ่ายติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีแล้ว  หรือว่าเราจะต้องมีภาระหนี้สาธารณะมากขึ้นตามภาระค่าใช้จ่ายแต่มีรายได้ลดลง


          ประการที่สองถัดมาคือความสามารถของแรงงานไทย  มีเสียงเรียกร้องและคำแนะมากมายจากองค์กรระหว่างประเทศว่าเราควรเพิ่มทักษะแรงงานของเราให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่รวดเร็วในปัจจุบัน

        เรากำลังเห็นการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดบ้านเรา  แต่เราไม่ค่อยพูดถึงแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประมาณว่ามีหลายแสนคน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการระดับเจ้าของแบรนด์ และผู้ประกอบการชิ้นส่วนต่างๆ  ถ้ารวมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่นร้านซ่อมรถสันดาบภายใน อาจมีคนเกี่ยวข้องเป็นล้านคน  แล้วเราได้ทำอะไรในการพัฒนาแรงงานเหล่านี้ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ยังมีอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิคที่เราเคยเป็นผู้นำในเรื่องฮาร์ดดิสก์ที่คนเขาไม่ใช้แล้ว 

 

          คำถามถัดมาคือแรงงานรุ่นใหม่ของเรา เด็กและเยาวชนของเราที่เกิดน้อยอยู่แล้ว เราเตรียมพวกเขาให้พร้อมแค่ไหนในการรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต  ถ้าดูจากผลสอบ PISA ปรากฎว่าเด็กๆ ของเรามีความสามารทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านต่ำลงและด้อยกว่าเวียดนาม  ทั้งๆที่เราทุ่มงบประมาณกับการศึกษาเป็นจำนวนมากแต่ทำไมได้ผลออกมาเช่นนี้ 


          ประการที่สาม คือความสามารถในการแข่งขัน  ตอนนี้มีการพูดว่าเราใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพียงประมาณ 50%  เราควรต้องกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อนำไปสู่การผลิตที่มากขึ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจากการเติบโตช้า  คำถามที่น่าจะขบคิดคือการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำลงเป็นผลจากอะไร  จากกำลังการซื้อที่น้อยลง จากการส่งออกที่ลดลง จากการที่สินค้าของเราล้าสมัย  หรือจากการทุ่มตลาดจากประเทศคู่ค้าที่สามารถผลิตสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า  เราไม่เห็นการวิเคราะห์ที่เป็นรูปธรรม การถกเถียงทางวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา  การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะส่งผลยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่


        ลองดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น  เราเริ่มไม่ค่อยเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอีเล็กทรอนิคชื่อญี่ปุ่นแล้ว  เราเห็นชื่อของเกาหลีและ จีนมากขึ้น  แปลว่าสินค้าเหล่านั้น สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปแล้วหรือไม่  และอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นจะต้านกระแสรถไฟฟ้าของจีนได้นานแค่ไหน  เช่นกันสำหรับประเทศไทย เรามีสินค้าอะไรที่โลกต้องการมากและต้องการเพิ่มไหม  เราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าในโลกใหม่หรือไม่


          ประการที่สี่ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง  ล่าสุดมีข้อมูลว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับกว่า 90% ของ GDP และมีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียมากขึ้น  ตัวเลขนี้เป็นเพียงส่วนของหนี้ในระบบ ยังมีส่วนของหนี้นอกระบบที่ไม่มีตัวเลขเป็นทางการ  ปัญหาหนี้สินมันมาจากปัญหารายได้และพฤติกรรมการใช้จ่าย  แต่จะเป็นการจะเหมารวมความว่าหนี้ครัวเรือนบางประเภทเช่นสินเชื่อเพื่อการบริโภคมาจากพฤติกรรมการใช้เกินตัวคงไม่ได้  คนที่รายได้ไม่พอรายจ่ายหรือกิจการมีความจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนเพื่อธุรกิจของตัวเองก็มีมาก

 

          ถ้ามองดูตัวเลขจากการวิจัยของธนาคารแห่งหนึ่งพบว่า รายได้ครัวเรือนระดับ 30,000 บาทต่อเดือนยังปริ่มน้ำกับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน  ถ้าดูตัวเลขจำนวณคนที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาก็น้อยมากไม่กี่ล้านคน เท่านั้น  แปลว่าคนที่อยู่ในระบบภาษีมีรายได้ไม่มากพอจะเสียภาษี

          โดยสรุปปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากปัญหารายได้ไม่เพียงพอ  เพราะการจ้างงานลดลง ชั่วโมงการทำงานลดลง บริษัทปิดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน  การปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ แจกเงิน มันแค่การบรรเทาปัญหา  คำถามคือจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร  อะไรคืออุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ การลงทุนใหม่ หรือ แหล่งรายได้ใหม่ของประเทศเพื่อให้คนมีรายได้พอใช้และมั่นคง 


          มองไปในอนาคต

          

ถ้าเรากลับมาเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ในภาวะที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย คนเกิดน้อย การเก็บภาษีได้น้อย ขณะนี้รายได้ของรัฐต่อ GDP ตกประมาณ 17 %ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ  อนาคตจะต่ำลงอีกไหมเพราะคนเกษียณมากขึ้น คนเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง แถมรัฐยังมีภาระเพิ่มในการดูแลผู้สูงวัย รวมทั้งนโยบายระยะสั้นต่างๆ เช่นลดค่าไฟ ตรึงราคาพลังงาน อุดหนุนการลงทุนตลาดหลักทรัพย์  หนี้สาธารณะของเราจะเพิ่มขึ้นอีกมากหรือไม่ เช่น กรณีญี่ปุ่น ที่มีหนี้สาธารณะมากกว่า 200 % ของ GDP 


          ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงทำให้การส่งออกลด การลงทุนภาคเอกชนทั้งในและจากต่างประเทศลดทำให้ขาดรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ  และคนไทยก็มีรายได้ลดลงเพราะการผลิตสินค้าบริการลดลง  เมื่อเศรษฐกิจไม่เติบโตเงินเฟ้อต่ำก็จะมีการลดดอกเบี้ยลงอีก  ทั้งที่เวลานี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ต่ำกว่าประเทศใกล้เคียงอยู่แล้ว หรือว่าต้องอยู่ระดับ0% เหมือนประเทศญี่ปุ่น


          การที่เราต้องนำเข้าพลังงานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีปัญหาสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจมีผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น  ในขณะที่เราต้องคงดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ค่าเงินบาทจะเป็นแบบค่าเงินเยนหรือไม่ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก  คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจตอบคำถามเหล่านี้

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages