30 มีนาคม วันไบโพลาร์โลก ชวนทำความรู้จักโรคไบโพลาร์ รู้ไว รักษาหาย - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, March 18, 2022

30 มีนาคม วันไบโพลาร์โลก ชวนทำความรู้จักโรคไบโพลาร์ รู้ไว รักษาหาย


หากลองสังเกตดีๆ ปฎิเสธไม่ได้ว่าความเครียดในชีวิตประจำวันพบได้บ่อยมากขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่กลับมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่ยากนัก ทว่าตัวผู้ป่วยเองอาจยังไม่รู้ว่าตนป่วยหรือรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับ ไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด และความทุกข์ใจต่อคนในครอบครัวและคนรอบข้างได้ โรคที่ว่านี้คือ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เนื่องในวันไบโพลาร์โลกที่ใกล้เข้ามา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการสนับสนุนจาก ซาโนฟี่ ประเทศไทย ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีอาการและคนในครอบครัวในการรักษา รับมือกับโรค เพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติในที่สุด

หลายคนอาจมีคำถามว่าโรคไบโพลาร์คืออะไร โรคไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อยๆ ร่วมด้วย การแสดงออกทางอาการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)

โดยปกติในแต่ละวัน คนเราจะมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ รับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ คือ เกิดอารมณ์ขั้วบวกหรืออารมณ์ขั้วลบเป็นเวลา 1–2 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว

การสังเกตอาการเริ่มต้นนั้นทำได้ไม่ยาก โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีสัญญาณเริ่มต้น ได้แก่ 1) ขั้วบวก คือ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ 2-3 วัน พูดมากขึ้น ร่าเริงผิดปกติ หรือในบางคนอาจจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 2) ขั้วลบ คือ เศร้าผิดปกติ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร คิดลบ รู้สึกไม่อยากมีชีวิต

หากญาติหรือคนใกล้ชิดสังเกตเห็นอาการเริ่มต้นดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล อาการเหล่านี้ไม่รุนแรง และ สามารถจัดการได้ แนะนำให้โทรศัพท์ไปปรึกษาที่โรงพยาบาลว่าควรต้องทำอย่างไรเมื่อผู้ป่วยเกิดความเจ็บป่วย หรือพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือทาง www.facebook.com/helpline1323/

เมื่อพูดถึงการรักษาหลายคนมักมีความเข้าใจผิดว่าโรคไบโพลาร์ไม่สามารถรักษาหายได้ แต่ในความเป็นจริงโรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นวิธีการรักษาหลัก โดยแพทย์จะให้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไป สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้สามารถจัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด โดยข้อห้ามหลักๆ คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรอดนอน และไม่ควรใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

นอกจากนี้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พร้อมพันธมิตร ยังได้จัดทำตารางประเมินสุขภาพอาการทั้งสองขั้วอารมณ์ของ 'โรคไบโพลาร์' แบบง่ายๆ เพื่อใช้ทดสอบตนเอง และใช้สังเกตคนในครอบครัวและคนรอบข้าง จะได้พบแพทย์และหาแนวทางรักษาได้อย่างถูกวิธีได้โดยไว ซึ่งโรคไบโพลาร์หากรู้ไว สามารถรักษาได้และสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

โรคไบโพลาร์เป็นโรคทางอารมณ์ที่ทุกคนก็มีโอกาสเป็นได้ แต่น้อยคนนักจะรู้จักและเข้าใจว่าโรคไบโพลาร์รักษาหายได้ หากสนใจหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ สามารถเข้าร่วมกิจกรรม "ใกล้ไกล ไบโพลาร์อุ่นใจ ด้วยจิตเวชทางไกล" ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม เวลา 14.30-16.30 น. โดยความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการสนับสนุนจาก ซาโนฟี่ ประเทศไทย ถ่ายทอดสดผ่านทางเพจของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขที่ www.facebook.com/THAIDMH


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages