ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ปี 67 ขยับสู่ระดับ 2.0 - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, April 23, 2025

ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ปี 67 ขยับสู่ระดับ 2.0


ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ปี 67 ขยับสู่ระดับ 2.0​ พร้อมลงนามความร่วมมือพันธมิตรจัดทำข้อมูลหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไทย



ดีป้า เผยผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 ระบุอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0 พบส่วนใหญ่เริ่มนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มดิจิทัล และโซลูชันมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม แนะภาคอุตสาหกรรมไทยเร่งปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้

การสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรมเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ โดยดำเนินการสำรวจใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อุตสาหกรรมผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ อุตสาหกรรมกระดาษและการพิมพ์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งดำเนินการสำรวจตามกรอบแนวทางดังกล่าวในปี 2563, 2564 และล่าสุดในปี 2567


ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 พบว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่างมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0: Solution (การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบบฟอร์มออนไลน์ หรือระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกในการทำงาน) จากระดับ 1.0: Manual (การทำงานแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องมือ Analog และกระบวนการแบบ Manual เช่น โทรศัพท์ แฟกซ์ และการส่งเอกสารผ่านอีเมล) ในปี 2564 โดยส่วนใหญ่เริ่มนำเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มดิจิทัล และโซลูชันมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิตแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามกระบวนการทำงาน ประกอบด้วย

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 2.0 ซึ่ง 57% ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้คำสั่งซื้อออนไลน์ โดยการเปิดเว็บไซต์เพื่อรับคำสั่งซื้อและการชำระเงิน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ออกแบบผลิตภัณฑ์) ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 90.67% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้โปรแกรมช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น Computer-Aided Design (CAD) หรือการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยวาดภาพ 2D/3D และสร้างชิ้นส่วน เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการจัดการกระบวนการผลิต ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 87.33% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติที่เรียบง่าย เช่น การใช้ Computer Numerical Control (CNC) หรือเครื่องจักรกลแบบอัตโนมัติที่มีการทำงานด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติทั้งหมดหรือบางส่วน

เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 70% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้อีเมลเพื่อติดต่อลูกค้า และเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ผลสำรวจชี้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในระดับ 1.0 โดย 69.33% ของกลุ่มตัวอย่างยังคงใช้ระบบสารสนเทศแบบแยกส่วนในบางแผนก/ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับ 4.0: Automation โดยมีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สูงขึ้น มีการใช้ระบบอัตโนมัติ/ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการและวางแผนมากขึ้น มีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อใช้บริหารจัดการธุรกิจเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขยับตัวไปที่ระดับ 3.0: Platform มากขึ้น แต่ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างยังชี้ให้เห็นว่า การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การขาดแคลนพนักงาน/แรงงานที่มีทักษะดิจิทัล การขาดแคลนเงินทุน และการที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็กยังไม่เหมาะที่จะลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งหมดถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่สูงขึ้น


“ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเร่งปรับตัว
เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน แม้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่จัดโดย UNIDO แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังครองอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่หากไม่เร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร และการส่งเสริมการทำ Digital Transformation โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ประเทศไทยอาจต้องเผชิญความเสี่ยงในการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากผลิตภาพการผลิตสูงถึงกว่า 1.8 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว


นอกจากนี้ ภายในงานแถลงผลสำรวจฯ ดีป้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศความร่วมมือการจัดทำข้อมูลเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมจัดการเสวนาในหัวข้อ Data-driven Industry: ผนึกกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย โดยมี นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการ ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นายอมฤต ฟรานเซน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.อุมา วิรัตน์สกุลชัย ผู้แทนสำนักงานภูมิภาค UNIDO และผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายผลทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 รวมถึงผลสำรวจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ที่ ดีป้า ดำเนินการได้ทาง www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINE OA: depaThailand และ Facebook Page: depa Thailand

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages