“สอวช.” วิเคราะห์ “โดนัลด์ ทรัมป์” คืนทำเนียบขาว กระทบวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม “ดร.สุรชัย” ย้ำจุดยืน ใช้ วทน.ยกระดับประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน - BIZTHAI POST

BIZTHAI POST

The Thai Biz Website

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Sunday, November 10, 2024

“สอวช.” วิเคราะห์ “โดนัลด์ ทรัมป์” คืนทำเนียบขาว กระทบวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม “ดร.สุรชัย” ย้ำจุดยืน ใช้ วทน.ยกระดับประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


“สอวช.” วิเคราะห์ “โดนัลด์ ทรัมป์” คืนทำเนียบขาว กระทบวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ย้อนประวัติศาสตร์  เคยตัดงบวิจัยและพัฒนา “ดร.สุรชัย” ย้ำจุดยืน ใช้ วทน.ยกระดับประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

จากชัยชนะแบบถล่มทลายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ได้ก่อคลื่นกระแทกที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ด้วยแนวนโยบายที่ฉีกออกจากนโยบายของรัฐบาลเดิม ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างประเทศ ที่จะขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ของสหรัฐมากกว่าการแสวงหาฉันทามติและความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือนโยบายภายในประเทศ 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากวิเคราะห์นโยบาย America First ของฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศของ สอวช. พบว่า นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์ จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีระหว่างปี ค.ศ. 2017-2021 ทั้งการตัดงบประมาณวิจัยและพัฒนาและการปรับเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ 

“เนื่องจากพรรครีพับลิกัน มีแนวโน้มได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาสหรัฐ ทั้งสภาล่างและสภาสูง ในสมัยที่สองของประธานาธิบดีทรัมป์จึงมีอำนาจมากขึ้น หากเขาต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยของประเทศก็สามารถทำได้อย่างแน่นอน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบต่อการดำเนินการทูตวิทยาศาสตร์ของสหรัฐและการสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ” ดร.สุรชัย กล่าว  

อย่างไรก็ตาม ดร.สุรชัย มองว่า แม้ว่านโยบายด้านวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่นโยบายด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และความมั่นคงจะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และชิป และคาดว่าสหรัฐจะเพิ่มความเข้มข้นในการทำสงครามการค้ากับจีน โดยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีนสูงถึง 60% จากเดิม 19% และคาดว่าจะใช้มาตรการกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาระบบ AI และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำหน้า 

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวอีกว่า การแยกส่วนในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain decoupling) จะยังดำเนินต่อไป โดยจะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนมากขึ้น และพยายามดึงดูดให้ฐานการผลิตย้ายไปตั้งในอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่นโยบายสนับสนุนการตั้งฐานการผลิตในประเทศที่เป็นมิตร (friendshoring) ที่ดำเนินมาในสมัยไบเดน จะถูกลดทอนความสำคัญลงภายใต้นโยบาย America First ที่ทรัมป์ประกาศว่าจะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ 10%  ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำตามที่เคยพูดไว้หรือไม่ ประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นมหามิตรประเทศเก่าแก่ของสหรัฐ และเป็น 1 ใน 16 ประเทศพันธมิตรหลักนอกนาโตของสหรัฐ ที่มีสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสอง จึงต้องจับตาท่าทีของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

“เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และนายรอเบิร์ต เอฟ โกเด็ก (H.E. Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันลงนามขยายความตกลงด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-สหรัฐ ที่ได้ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2556 ต่อไปอีก 10 ปี นับว่าโชคดีอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่มาถูกที่ ถูกเวลา” ดร.สุรชัย กล่าว

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ความตกลงดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ ผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่หลากหลายบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้มีความครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการสร้างชุมชนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมให้แก่คนทุกกลุ่ม การสนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรมความร่วมมือของนักวิจัยและองค์กรจากทุกภาคส่วน และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น  

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ดร.สุรชัย มองว่า จะต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยการดำเนินนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปในทิศทางที่กระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศภาคีความร่วมมือ ทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเติมเต็มช่องว่างที่อาจจะเกิดขึ้นหากสหรัฐลดบทบาทในเวทีระหว่างประเทศลง โดยเฉพาะในสาขาพลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ต้องดำเนินไปในลักษณะที่คำนึงถึงสมดุลของความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical tension) ด้วย เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยและไทยต้องสร้างความไว้วางใจในความเป็นพันธมิตร  

“ไม่ว่าการดำเนินนโยบายของสหรัฐจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เช่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ที่ต้องมีการเตรียมพร้อมด้านการพัฒนากำลังคนทักษะสูง (high-skilled workforce) การวิจัยและพัฒนา และการบูรณาการงบประมาณด้านการวิจัยกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังต้องมีการส่งเสริม SME ให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกที่ช่วยให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ครอบคลุมถึงเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ดร.สุรชัย กล่าวทิ้งท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad





Pages